การพยาบาลผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม : กรณีศึกษา The Nursing Care for Total Knee Arthroplasty: A case study / ชวนพิศ แสงมณี Chuanpid Saengmanee
- November 25, 2024
- admin
- 0
การพยาบาลผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม : กรณีศึกษา
The Nursing Care for Total Knee Arthroplasty: A case study
Authors
ชวนพิศ แสงมณี
Chuanpid Saengmanee
(Received: 24 October 2024; Revised: 9 November 2024; Accepted: 19 November 2024)
บทคัดย่อ
บทนำ ข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคข้อเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุด พบได้ทั้งในเพศชาย และเพศหญิง อาการของโรค มักเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป จนกระทั่งมีอาการปวดมากตามน้ำหนัก ตามเวลา และตามสภาพการใช้งาน การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นการผ่าตัดที่พบได้บ่อยมาก เนื่องจากมีความปลอดภัย และได้ผลดี มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดอาการปวด และทำให้การเคลื่อนไหวของข้อเข่าใกล้เคียงปกติ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรที่จะมีความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้องในการดูแลตนเองภายหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เพื่อให้ข้อเข่าเทียม มีอายุการใช้งานได้ยาวนานที่สุด
วิธีการศึกษา ศึกษาจากผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ที่เข้ารับการรักษา ที่หอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูก โรงพยาบาลสิงห์บุรี จำนวน 1 ราย โดยใช้กระบวนการพยาบาลและแนวทาง การวางแผนการจำหน่ายผู้ป่วยเป็นแนวทางสำคัญในการศึกษา
ผลการศึกษา ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 63 ปี เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมา 2 ปี ร่วมกับมีภาวะความดันโลหิตสูง แพทย์นัดมาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ก่อนผ่าตัดพบว่าผู้ป่วยมีปัญหาความดันโลหิตสูง แพทย์ให้รับประทานยา Enalapril (5mg) และ Amlodipine (5 mg) และมีภาวะ Hypokalemia (K 3.2 mmol/L.) ผู้ป่วยได้รับโพแทสเซียมรับประทาน หลังรับประทานผล K 3.6 mmol/L. ระหว่างการผ่าตัดเสียเลือดประมาณ 100 cc หลังผ่าตัด ระยะหลังผ่าตัด 24 ชั่วโมงแรก พบว่า radivac drain มีเลือดออก 730 cc เกิดภาวะช็อค แพทย์พิจารณาให้ PRC 3 U ติดตามผล Hct อยู่ระหว่าง 32-33 % On PCA ความปวดระดับ 1-2 คะแนน ไม่มี Active bleed ที่แผลผ่าตัด วันที่ 3 หลังผ่าตัด แพทย์ให้ส่งกายภาพบำบัดเพื่อฝึกหัดเดิน และบริหารเข่า สามารถงอเข่าได้และเดินด้วย Pikup walker คล่อง แพทย์พิจารณาจำหน่ายกลับบ้าน และนัดติดตามอีก 1 สัปดาห์เพื่อดูแผลและตัดไหม รวมจำนวนวันนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 7 วัน
บทสรุป การพยาบาลที่มีประสิทธิภาพควรมีการเตรียมความพร้อม ทั้งในระยะก่อนผ่าตัด หลังผ่าตัด และระยะฟื้นฟูและการติดตามหลังจำหน่าย เพื่อทำให้ผู้ป่วยปลอดภัย สามารถกลับไปใช้ชีวิตหลังผ่าตัดอย่างมีคุณภาพ
คำสำคัญ : การพยาบาล โรคข้อเข่าเสื่อม การผ่าตัดข้อเข่าเทียม