การพยาบาลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่สูบบุหรี่และมีโรคร่วมความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง: กรณีศึกษา Nursing Care for Patients with Chronic Obstructive Pulmonary Disease Who Smoke and Have Comorbid Hypertension and Hyperlipidemia: A Case Study / ดวงใจ ดุดัน Duangjai Dudan
- October 13, 2024
- admin
- 0
การพยาบาลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่สูบบุหรี่และมีโรคร่วมความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง: กรณีศึกษา
Nursing Care for Patients with Chronic Obstructive Pulmonary Disease Who Smoke and Have Comorbid Hypertension and Hyperlipidemia: A Case Study
Authors
ดวงใจ ดุดัน
Duangjai Dudan
(Received: September 15 , 2024; Revised: September 24, 2024; Accepted: October 5, 2024)
บทคัดย่อ
บทนำ: โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เกิดจากการอักเสบเรื้อรังที่ทำให้หลอดลมตีบแคบและเสียความยืดหยุ่น ส่งผลให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นการอักเสบและทำลายเนื้อเยื่อปอด ทำให้ถุงลมเสียหายถาวรและการแลกเปลี่ยนออกซิเจนลดลง ผู้ป่วยจึงมีอาการหายใจลำบากและเหนื่อยง่าย สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด และการเสื่อมของอวัยวะอื่นๆ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษากระบวนการพยาบาลโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่สูบบุหรี่และมีโรคร่วมความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงรูปแบบการศึกษา: เป็นการวิเคราะห์และเปรียบเทียบกรณีศึกษากับหลักวิชาการและนำผลการศึกษาไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยรายอื่น
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยชายไทยอายุ 62 ปี มีประวัติการเจ็บป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ร่วมกับโรคความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง เข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน สถาบันโรคทรวงอก จังหวัดนนทบุรี ด้วยอาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก อัตราการหายใจ 26-30 ครั้งต่อนาที อัตราการเต้นของหัวใจ 100 ครั้งต่อนาที ความดันโลหิต 105/62 มิลลิเมตรปรอท ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดเท่ากับ 85 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิร่างกาย 37 องศาเซลเซียส ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และได้รับการรักษาโดยการพ่นยาขยายหลอดลม หลังการพ่นยาอาการดีขึ้น ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ และหายใจลำบาก แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ และนัดมาอีกครั้งในวัดถัดไป โดยผู้ป่วยมาตรวจตามนัด มีอาการดีขึ้น หายใจปกติ ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ ได้รับการสอนและฝึกเทคนิคการหายใจอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การหายใจแบบเป่าปาก และการหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อกระบังลม เพื่อช่วยเพิ่มการแลกเปลี่ยนก๊าซภายในปอดและเพิ่มประสิทธิภาพการหายใจ ผู้ป่วยสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติที่บ้านได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้ผู้ป่วยจัดการตนเองได้ดีขึ้น ลดอาการเหนื่อยหอบ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สรุป: การดูแลให้การพยาบาลโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่สูบบุหรี่และมีโรคร่วมความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง พยาบาล นอกจากจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับพยาธิสรีวิทยาของโรคยังต้องให้ความสำคัญกับการจัดการปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การควบคุมความดันโลหิตสูง การจัดการภาวะไขมันในเลือดสูง และการสนับสนุนให้ผู้ป่วยหยุดสูบบุหรี่ การบูรณาการการพยาบาลแบบองค์รวมกับการรักษาทางการแพทย์อย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว
คำสำคัญ : โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, การสูบบุหรี่, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง