การพยาบาลผู้ป่วย Hepatocellular carcinoma ร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ที่ได้รับการผ่าตัดผ่านกล้อง Laparoscopic Hepatectomy: กรณีศึกษา Nursing Care for Patients with Hepatocellular Carcinoma and Comorbid Hypertension and Diabetes Undergoing Laparoscopic Hepatectomy : A case study / ดลฤดี พิพัฒน์รุ่งเรือง Dolrudee Phiphatrungraung
- October 13, 2024
- admin
- 0
การพยาบาลผู้ป่วย Hepatocellular carcinoma ร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ที่ได้รับการผ่าตัดผ่านกล้อง Laparoscopic Hepatectomy: กรณีศึกษา
Nursing Care for Patients with Hepatocellular Carcinoma and Comorbid Hypertension and Diabetes Undergoing Laparoscopic Hepatectomy : A case study
Authors
ดลฤดี พิพัฒน์รุ่งเรือง
Dolrudee Phiphatrungraung
(Received: September 19 , 2024; Revised: September 25, 2024; Accepted: October 5, 2024)
บทคัดย่อ
บทนำ: มะเร็งตับ เป็นโรคที่สำคัญและพบได้ทั่วโลก โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่งของโรคมะเร็งที่เกิดในเพศชายไทย การตรวจคัดกรองหามะเร็งตับมักใช้ Ultrasound, CT Scan และผล AFP ซึ่งมีข้อจำกัดในด้านประสิทธิภาพการตรวจ ทำให้กระบวนการรักษาล่าช้าและไม่ครอบคลุม การดูแลและสนับสนุนทางจิตใจเป็นสิ่งสำคัญช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับมือกับโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษากระบวนการพยาบาล และการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง และเบาหวานที่ได้รับการผ่าตัดผ่านกล้อง
รูปแบบการศึกษา: เป็นการวิเคราะห์กรณีศึกษากับหลักวิชาการ และนำผลการศึกษาไปใช้ในการดูแลผู้ป่วย
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยชายไทยคู่ อายุ 64 ปี เป็นเบาหวาน และความดันโลหิตสูง รักษาที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา รับประทานยาต่อเนื่อง 3 เดือนก่อนมีอาการปวดจุกแน่นท้องหลังการรับประทานอาหาร รู้สึกว่ามีท้องอืด ย่อยยาก ไม่ค่อยสุขสบาย และมีน้ำหนักตัวลด 3-4 กิโลกรัม จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลเสนา ทำอัลตร้าซาวน์พบว่ามีก้อนที่ตับ จึงส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา หลังตรวจรักษาเบื้องต้นได้ส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลราชวิถี ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งตับ 18 ตุลาคม 2566 แพทย์ได้ทำการรักษาโดยการผ่าตัดผ่านกล้อง 20 ตุลาคม 2566 หลังการผ่าตัดได้ยากลับบ้านไปรับประทานต่อเนื่อง จากนั้นนัดตรวจติดตามอาการเป็นระยะ รวมระยะเวลารักษาและติดตามอาการทั้งสิ้น 1 เดือน 19 วัน
การสรุปผล: ผู้ป่วยเป็นมะเร็งตับ รักษาที่โรงพยาบาลราชวิถีด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดเนื่องจากอาจผู้ป่วยเป็นเบาหวานและความดันโลหิตสูง พยาบาลที่ดูแลจึงต้องมีความรู้และความเข้าใจถึงพยาธิสภาพของโรค แนวทางการดูแลรักษา ภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งต้องมีศักยภาพในการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยให้เฉพาะเจาะจงกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยใช้กระบวนการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อน
คำสำคัญ : การพยาบาล มะเร็งตับ การผ่าตัดผ่านกล้อง