การพยาบาลผู้ป่วยถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันที่ได้รับการผ่าตัดผ่านกล้องทางหน้าท้อง ร่วมกับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง : กรณีศึกษา Nursing care of patients with laparoscopic cholecystectomy combined with open cholecystectomy from acute cholecystitis: A case study / ปณิชา สุมะโน Panicha Sumano
- September 26, 2024
- admin
- 0
การพยาบาลผู้ป่วยถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันที่ได้รับการผ่าตัดผ่านกล้องทางหน้าท้องร่วมกับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง : กรณีศึกษา
Nursing care of patients with laparoscopic cholecystectomy combined with open cholecystectomy from acute cholecystitis: A case study
Authors
ปณิชา สุมะโน
Panicha Sumano
(Received: September 7 , 2024; Revised: September 17, 2024; Accepted: September 22, 2024)
บทคัดย่อ
บทนำ ภาวะถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มักเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี การรักษาด้วยการผ่าตัดมี 2 วิธี คือ การผ่าตัดเปิดหน้าท้องซึ่งจะใช้เวลาในการพักฟื้นนานเนื่องจากมีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อมาก และอีกวิธีหนึ่งคือการผ่าตัดผ่านกล้องทางหน้าท้องซึ่งมีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อน้อยกว่าและผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่า
วิธีการศึกษา ศึกษาจากเวชระเบียนผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดถุงน้ำดีออกด้วยวิธีผ่าตัดผ่านกล้องทางหน้าท้องร่วมกับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง จากสาเหตุถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน จำนวน 1 ราย โดยการรวบรวมข้อมูลจากผู้ป่วย ญาติและเวชระเบียนผู้ป่วยใน โดยใช้มาตรฐานการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดและกระบวนการพยาบาลเป็นแนวทางสำคัญในการศึกษา
ผลการศึกษา ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 69 ปี มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานและไขมันในเลือดสูง ได้รับการวินิจฉัยว่ามีถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันได้รับการผ่าตัดถุงน้ำดีออกด้วยวิธีการผ่าตัดผ่านกล้องทางหน้าท้อง แต่เนื่องจากผู้ป่วยมีพังผืดบริเวณหน้าท้องมากร่วมกับผนังหน้าท้องหนาและถุงน้ำดีมีการอักเสบและเนื้อตาย จึงได้รับการผ่าตัดเปิดหน้าท้องร่วมด้วย ในระหว่างการผ่าตัดผู้ป่วยได้รับการดูแลตามมาตรฐานการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดและกระบวนการพยาบาล ใช้เวลาในการผ่าตัด 2 ชั่วโมง 50 นาที หลังการผ่าตัดได้รับการดูแลตามมาตรฐานการพยาบาล ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดและจำหน่ายกลับบ้านได้ รวมระยะเวลาอยู่โรงพยาบาล 6 วัน
บทสรุป ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดถุงน้ำดีด้วยวิธีการผ่าตัดผ่านกล้องทางหน้าท้องในบางรายอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปิดหน้าท้องร่วมด้วย พยาบาลในห้องผ่าตัดจึงต้องมีความรู้ในการใช้มาตรฐานการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดและกระบวนการพยาบาลในทุกระยะ ตั้งแต่ระยะการเยี่ยมก่อนผ่าตัด ระยะการผ่าตัด ระยะหลังการผ่าตัดและการดูแลต่อเนื่องตลอดจนการวางแผน การเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนจากโรคร่วมทางอายุรกรรม ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อน
คำสำคัญ: การพยาบาล ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน การผ่าตัดผ่านกล้องทางหน้าท้อง การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง