การพยาบาลผู้ป่วย Takotsubo cardiomyopathy ที่ได้รับการใส่เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจตามแนวคิดทฤษฎีรอย : กรณีศึกษา Nursing care for patients with Takotsubo cardiomyopathy with mechanical cardiac support based on Roy’s adaptation model : Case Study / นางขนิษฐา ณ นคร Kanista Na – nakorn
- September 26, 2024
- admin
- 0
การพยาบาลผู้ป่วย Takotsubo cardiomyopathy ที่ได้รับการใส่เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจตามแนวคิดทฤษฎีรอย : กรณีศึกษา
Nursing care for patients with Takotsubo cardiomyopathy with mechanical cardiac support based on Roy’s adaptation model : Case Study
Authors
นางขนิษฐา ณ นคร
Kanista Na – nakorn
(Received: September 8 , 2024; Revised: September 15, 2024; Accepted: September 20, 2024)
บทคัดย่อ
บทนำ: ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันจาก Takotsubo cardiomyopathy เป็นภาวะที่คุกคามต่อชีวิตผู้ป่วย เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายมีการบีบตัวน้อยกว่าปกติ เลือดไม่สามารถบีบออกจากหัวใจได้ ทำให้ผนังหัวใจโป่งหนาขึ้น ผู้ป่วยมีอาการคล้ายโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ได้แก่ อาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ หน้ามืด เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ภาวะหัวใจล้มเหลว ร่วมกับภาวะลิ้นหัวใจรั่วได้ การรักษาจึงมักใช้วิธีแบบประคับประคองเหมือนรักษาภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน บางรายอาการรุนแรงมากอาจจะต้องใช้เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจชนิดชั่วคราว (Intra Aortic Balloon Pump: IABP) ช่วยการทำงานของหัวใจร่วมด้วย
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษากระบวนการพยาบาลผู้ป่วย takotsubo cardiomyopathy ที่ได้รับการใส่เครื่องพยุงการทำงานของ
หัวใจตามแนวคิดทฤษฎีรอย เพื่อให้การพยาบาลมีคุณภาพ ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความปลอดภัย
รูปแบบการศึกษา: เป็นการวิเคราะห์และเปรียบเทียบกรณีศึกษากับหลักวิชาการและนำผลการศึกษาไปใช้
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 73 ปี ส่งตัวมาจากโรงพยาบาลบางประอิน ด้วยอาการจุกแน่นใต้ลิ้นปี่ หอบเหนื่อย เหงื่อออกตัวเย็น 1 วันก่อนมาโรงพยาบาล จึงส่งต่อมารักษาที่สถาบันโรคทรวงอก แรกรับผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ผลประเมินอาการทางสมอง E4VTM6 อัตราการหายใจ 20-22 ครั้งต่อนาที ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดเท่ากับ 100 เปอร์เซ็นต์ ความดันโลหิต 115/81 มิลลิเมตรปรอท อุณหภูมิร่างกาย 36.7 องศาเซลเซียส ได้รับการรักษาโดยการใส่เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจชนิดชั่วคราว (IABP) ระหว่างใส่เครื่อง IABP พบผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว อัตราการเต้นของหัวใจ 140-160 ครั้งต่อนาที จึงได้รับยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผลคลื่นไฟฟ้าหัวใจกลับมาเต้นปกติ (sinus rhythm) อัตราการเต้นของหัวใจ 60-68 ครั้งต่อนาที ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อน และสามารถกลับบ้านได้ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
สรุป: การดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ที่ได้รับการใส่เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจ พยาบาลจะต้องมีความเข้าใจถึงพยาธิสรีวิทยาของโรค และหลักการทำงานของเครื่องช่วงพยุงการทำงานของหัวใจ จึงจะสามารถให้การพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาวะแทรกซ้อน และอัตราการตายในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวได้
คำสำคัญ: เครื่องพยุงหัวใจ, ทฤษฎีการปรับตัวของรอย, Takotsubo cardiomyopathy