การพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะถุงน้ำคร่ำรั่วก่อนกำหนดร่วมกับภาวะสายสะดือย้อย:กรณีศึกษา
- March 20, 2024
- admin
- 0
การพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะถุงน้ำคร่ำรั่วก่อนกำหนดร่วมกับภาวะสายสะดือย้อย:กรณีศึกษา
Nursing Care for Pregnant Women with Preterm premature rupture of membrane and Umbilical Cord prolapsed: case study
Authors
นัยนา กระจะจ่าง
Naiyana krajajang
(Received: February 18, 2024; Revised: February 25, 2024; Accepted: February 29, 2024)
บทคัดย่อ
ภาวะถุงน้ำคร่ำรั่วก่อนกำหนด (PPROM) เป็นภาวะผิดปกติของหญิงตั้งครรภ์ที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในโพรงมดลูกและภาวะสายสะดือย้อย และมักจะทำให้คลอดก่อนกำหนด จากสถิติกลุ่มงานการพยาบาลผู้คลอด โรงพยาบาลสิงห์บุรี ปี 2564 – 2566 พบว่า การคลอดก่อนกำหนดมีสาเหตุจากถุงน้ำคร่ำรั่วก่อนกำหนดสูงเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 38.00, 17.85, 29.73 ตามลำดับ หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะถุงน้ำคร่ำรั่วก่อนกำหนดอาจทำให้เกิดภาวะสายสะดือย้อย และทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสูติกรรม จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และมีความพร้อมทั้งบุคลากรและเครื่องมือไว้ตลอดเวลา
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษากระบวนการพยาบาลและดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะถุงน้ำคร่ำรั่วก่อนกำหนดร่วมกับภาวะสายสะดือย้อย
รูปแบบการศึกษา เป็นการเปรียบเทียบกรณีศึกษากับทฤษฎีและนำผลการศึกษาไปใช้ดูแลหญิงตั้งครรภ์
ผลการศึกษา กรณีศึกษารายนี้มีภาวะวิกฤติ มารดามีโอกาสเกิดการติดเชื้อจากการมีน้ำคร่ำรั่วก่อนกำหนดและเกิดสายสะดือย้อย ทำให้ทารกมีโอกาสเกิดภาวะขาดออกซิเจนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในครรภ์หรือตายปริกำเนิด พยาบาลห้องคลอดจึงต้องสามารถประเมินภาวะผิดปกติได้และให้การช่วยเหลือเบื้องต้นได้ถูกต้อง มีการรายงานแพทย์ทันทีเพื่อเตรียมผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน ประสานงานกับทีมกุมารแพทย์ สื่อสารข้อมูลภาวะวิกฤติและแผนการรักษาของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นการดูแลแบบองค์รวมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัย
สรุป กรณีศึกษารายนี้มีภาวะสายสะดือย้อยขณะเข้าห้องน้ำเปลี่ยนผ้าอนามัย ได้รับการดูแลเบื้องต้นจากพยาบาลทันที โดยจัดท่าหญิงตั้งครรภ์นอนหงายใช้หมอนรองใต้ก้นให้ก้นสูงกว่าศีรษะเพื่อลดแรงกดของส่วนนำที่สายสะดือ ใช้มือสอดเข้าช่องคลอดดันส่วนนำของทารกขึ้นไม่ให้กดสายสะดือ ให้ออกซิเจน ฟัง Fetal heart sound รายงานสูติแพทย์และกุมารแพทย์ทันที เตรียมความพร้อมในการผ่าตัดฉุกเฉินและเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิตของทารกแรกเกิด การดูแลรักษาพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะน้ำคร่ำรั่วก่อนกำหนด นอกจากจะมีการประเมินมารดาและทารก การวินิจฉัยและการให้การรักษาจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นและการเตรียมเครื่องมือให้พร้อมตลอดเวลา การทำงานเป็นทีมทั้งแพทย์และพยาบาลแล้ว ปัจจัยที่สำคัญที่สามารถป้องกันภาวะสายสะดือย้อยได้เป็นอย่างดี คือการปฏิบัติตนของหญิงตั้งครรภ์ที่ถูกต้อง เพราะถึงแม้จะมีการดูแลรักษาพยาบาลที่ดีแล้วถ้าหญิงตั้งครรภ์ปฏิบัติตนไม่ถูกต้องก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสายสะดือย้อยได้ พยาบาลจึงควรให้ความสำคัญในการให้คำแนะนำอย่างชัดเจนและติดตามการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากภาวะสายสะดือย้อยได้
คำสำคัญ : น้ำคร่ำรั่วก่อนกำหนด; สายสะดือย้อย; คลอดก่อนกำหนด