การพยาบาลผู้ป่วยโรคลุดวิกส์ แองไจน่า ที่มีภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น
- January 10, 2024
- admin
- 0
การพยาบาลผู้ป่วยโรคลุดวิกส์ แองไจน่า ที่มีภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น
Nursing care of Ludwig’s angina patients with upper airway obstruction
Authors
สำเนียง แจ้งมงคล
Samniang Jangmongkol
(Received: December 18, 2023; Revised: December 28, 2023; Accepted: January 4, 2024)
บทคัดย่อ
ความสำคัญของปัญหา: ภาวะ Ludwig’s angina เป็นภาวการณ์อักเสบติดเชื้อรุนแรงของช่องพังผืดใต้ขากรรไกรล่างและใต้ลิ้น ทั้งซ้ายและขวา สามารถแพร่กระจายไปยังบริเวณคอ ช่องทรวงอก เยื่อหุ้มปอด และเยื่อหุ้มหัวใจได้ ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต เนื่องจากการบดบังทางเดินหายใจส่วนบน จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลที่เร่งด่วนเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต และลดภาวะแทรกซ้อน
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผู้ป่วยโรคลุดวิกส์ แองไจน่า ที่มีภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น และพัฒนาแนวทางปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยโรคลุดวิกส์ แองไจน่า ที่มีภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น
รูปแบบการศึกษา: เป็นการวิเคราะห์กรณีศึกษากับหลักวิชาการ และนำผลการศึกษาไปใช้ในการดูแลผู้ป่วย
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยชายไทย อายุ 61 ปี รับส่งต่อมารักษาจากโรงพยาบาลชุมชน มีอาการ ปวดฟันกรามล่างขวา คอ ด้านขวา และแก้มขวาบวมแดงเป็นก้อนโตบวมแดงร้อน มีไข้สูงหนาวสั่น อ้าปากได้น้อย เจ็บคอ เจ็บโคนลิ้นมาก พูดไม่ชัด รับประทานอาหารไม่ได้ กลืนอาหารลำบาก และติดคอ หายใจไม่สะดวก เหนื่อย นอนราบไม่ได้ แพทย์ตรวจพบว่า มีการติดเชื้อรุนแรงในช่องปาก ทำให้ทางเดินหายใจอุดกั้น แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคลุดวิกส์ แองไจน่า และมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นส่วนบน ดูแลให้ O2 mask with bag 10 LPM ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำและยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ เตรียมผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด และให้การพยาบาลผู้ป่วยหลังผ่าตัด ขณะผ่าตัดผู้ป่วยมีอาการ Alcohol Withdrawal Seizure ได้ยากันชัก และหยุดชักตลอดการรักษา ไม่มีภาวะแทรกซ้อน หลังผ่าตัด 3 วัน สามารถถอดท่อช่วยหายใจ และสายยางให้อาหารได้ รับประทานอาหารได้เอง แผลแห้งดี หลังผ่าตัด 9 วัน แพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน และนัดติดตามการรักษาในวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ผู้ป่วยมาพบแพทย์ตามนัด และได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง รวมระยะเวลารักษาในโรงพยาบาล 12 วัน
สรุป: พยาบาลวิชาชีพเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญทำหน้าที่ให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ใช้กระบวนการพยาบาลในทุกขั้นตอนตั้งแต่แรกรับจนจำหน่าย การติดเชื้อลุดวิกส์ แองไจนา หากไม่ได้รับการวินิจฉัย และรักษาที่ถูกต้องอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะรุนแรงให้ปลอดภัยไม่สูญเสียชีวิต จึงต้องมีทั้งความรู้ ความสามารถ ทักษะในการติดตามประเมินอาการผิดปกติ และอาการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว รายงานแพทย์ได้ทันท่วงที ให้การพยาบาลได้อย่างเหมาะสมกับปัญหาและอาการเปลี่ยนแปลง จึงจะช่วยให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยจากอันตราย และไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่อาจคุกคามถึงแก่ชีวิต ให้สามารถกลับไปดำเนินชีวิตอยู่กับครอบครัวได้อย่างปกติสุข
คำสำคัญ : การพยาบาล, โรคลุดวิกส์ แองไจน่า, ทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น