การพยาบาลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงชนิด DKA
- December 22, 2023
- admin
- 0
การพยาบาลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงชนิด DKA (Diabetic Ketoacidosis) : กรณีศึกษา
Nursing care for type 2 diabetic patients with Diabetic Ketoacidosis (DKA) Comparative case study
Authors
รุ่งทิวา สะกะมณี
Rungtiwa Sakamanee
(Received: November 10, 2023; Revised: November 25, 2023; Accepted: December 14, 2023)
บทนำและวิธีการศึกษา: การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาเปรียบเทียบผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงชนิด DKA จำนวน 2 รายที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบางระจัน โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียน การซักประวัติผู้ป่วย การสังเกต การสัมภาษณ์ผู้ป่วยและญาติ วิเคราะห์ข้อมูล โดยการวิเคราะห์เนื้อหา เปรียบเทียบปัจจัยเสี่ยงผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงชนิด DKA อาการและอาการแสดง การรักษาและการนำกระบวนการพยาบาลมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้การพยาบาลมีคุณภาพ ส่งผลให้ผู้ป่วยปลอดภัย ไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ผลการศึกษา: จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยทั้ง 2 ราย มีอาการสำคัญที่มาโรงพยาบาลคล้ายกัน คือ หายใจเหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เจาะDTX พบระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ผู้ป่วยเริ่มมีอาการหายใจเหนื่อย หอบลึก ผู้ป่วยรายที่ 1 พบลมหายใจมีกลิ่นอะซิโตน แต่ในรายที่ 2 ไม่พบ ระดับความรู้สึกตัวเริ่มลดลง มีภาวะเลือดเป็นกรดและมีของเสียคั่งในร่างกาย มีภาวะผิดปกติของเกลือแร่ พยาบาลประเมินผู้ป่วยได้รวดเร็วและทันท่วงที ผู้ป่วยทั้ง 2 รายได้รับการรักษาโดยการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำและอินซูลิน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องระดับน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะกรดด่างในร่างกายไม่สมดุล การมีคีโตนคั่งในร่างกาย จนกระทั่งผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดและสมดุลกรดด่างเข้าสู่เกณฑ์ปกติ พ้นจากภาวะวิกฤต หากผู้ป่วยไม่ได้รับการประเมิน วางแผนการพยาบาลก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ผู้ป่วยอาจมีโอกาสเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
สรุปผลและการนำไปใช้: พยาบาลแผนกผู้ป่วยในมีบทบาทสำคัญในการประเมินสภาพ ค้นหาปัญหา และแก้ไขเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยเพราะอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยมากที่สุด ตลอดจนวางแผนจำหน่าย ติดตามการดูแลต่อเนื่องเมื่อผู้ป่วยกลับไปบ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้ได้ตามค่าเป้าหมาย พยาบาลต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินของโรคเบาหวานและการเกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่อไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ เพื่อที่จะสามารถใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการพยาบาลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำสำคัญ : ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงชนิด DKA, กรณีศึกษาการพยาบาล