การพยาบาลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีแผลที่เท้า :กรณีศึกษาเปรียบเทียบ
- December 22, 2023
- admin
- 0
การพยาบาลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีแผลที่เท้า :กรณีศึกษาเปรียบเทียบ
Nursing care of type 2 diabetic patients with foot ulcers: Comparative case study
Authors
ปิยนุช สิงห์ทอง
Piyanuch Singtong
(Received: October 04, 2023; Revised: November 15, 2023; Accepted: December 10, 2023)
แผลเบาหวานที่เท้า จัดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ที่เป็นเบาหวาน โดยพบว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยเบาหวานและมีแผลที่เท้ามีโอกาสเกิดการติดเชื้อที่แผลได้ ซึ่งการติดเชื้อนี้นำไปสู่การตัดขามากถึงร้อยละ 84 การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบกรณีศึกษา จำนวน 2 ราย ที่เข้ารับรักษาในแผนกผู้ป่วยใน โดยศึกษาประวัติผู้ป่วยจากการวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบตามแบบแผนสุขภาพ 11 แบบแผนของกอร์ดอน นำกระบวนการพยาบาลมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยและแก้ไขปัญหาของผู้ป่วยแต่ละรายให้ตรงตามปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงมีการวางแผนจำหน่ายเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
ผลการศึกษา
ผู้ป่วยกรณีศึกษารายที่ 1 ผู้ป่วยชายไทย อายุ 74 ปี รับไว้ในการดูแลเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566 มาด้วยมีแผลที่นิ้วโป้งเท้าขวา แผลมีหนอง บวม แดง กดไม่เจ็บ เป็นโรคเบาหวาน 10 ปี มีโรคร่วมคือความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง แพทย์วินิจฉัย Infected wound Rt.Foot FBS 218 mg/dl ได้รับอินซูลินเพื่อทำการรักษา และทำแผลพบแผลมีหนองไหลเยอะมากขึ้น ขอบแผลซีดขาว จึง Refer ไปทำ Debridement ที่รพ.สิงห์บุรี ในวันที่ 7 มีนาคม 2566 เวลา 12.00 น.รวมระยะเวลาที่อยู่ในความดูแล 1วัน ผู้ป่วยกรณีศึกษา รายที่ 2 ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 74 ปี รับไว้ในการดูแลเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 มาด้วยมีไข้ หนาวสั่น ฝ่าเท้าเป็นแผลพุพอง ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน 23 ปี มีโรคร่วมคือความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงและโรคข้อเข่าเสื่อม แพทย์วินิจฉัย diabetic foot ulcers เจาะ DTX 395 mg% ได้รับการรักษาจนสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ทำแผลให้จนแผลใต้ฝ่าเท้าแดงดี แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ในวันที่10 สิงหาคม2566 เวลา14.00 น.รวมระยะเวลาที่อยู่ในความดูแล3 วัน และนัดมาทำแผลต่อที่ รพ.
การสรุปผลและการนำไปใช้
จากการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีแผลที่เท้า ที่เข้ารับการรักษา ตั้งแต่แรกรับจนถึงจำหน่าย พยาบาลจึงต้องมีการบูรณาการทั้งด้านความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานที่มีแผลที่เท้า นำกระบวนการพยาบาลมาใช้ในการตัดสินใจและแก้ปัญหาของผู้ป่วยแต่ละรายที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้หลังจำหน่ายเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ
คำสำคัญ : การพยาบาล, ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีแผลที่เท้า, กรณีศึกษาเปรียบเทียบ