การพยาบาลผู้ป่วยโรคมะเร็งกล่องเสียงที่มีภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น : กรณีศึกษา
- December 21, 2023
- admin
- 0
การพยาบาลผู้ป่วยโรคมะเร็งกล่องเสียงที่มีภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น :กรณีศึกษา
Nursing care of laryngeal cancer patients with Obstructed upper airway: case study
Authors
จิราภรณ์ วิมลอนันต์*
Jiraporn wimol-arnan
(Received: October 04, 2023; Revised: November 15, 2023; Accepted: November 25, 2023)
โรคมะเร็งกล่องเสียง เกิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อบริเวณกล่องเสียงได้รับความเสียหายและเจริญเติบโตผิดปกติ กลายเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อบุผิวของกล่องเสียง โดยหากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะเสียชีวิตได้ภายใน 1 ปี ด้วยสาเหตุจากการแพร่กระจายของมะเร็งจนอุดกล่องเสียงทำให้หายใจไม่สะดวกและลุกลามไปหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอเกิดภาวะเลือดออกที่รุนแรง ปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งกล่องเสียงที่พบได้มากที่สุดคือประวัติเคยสูบบุหรี่ ปัจจุบันรักษาด้วยการผ่าตัดและใช้รังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัด บทความนี้เป็นการนำเสนอกรณีศึกษา ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคมะเร็งกล่องเสียงที่แผนกผู้ป่วยนอก ของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ 1 ราย ระยะเวลา 1 ปี 3 เดือน มาตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอก จำนวน 32 ครั้ง ตั้งแต่ 31 สิงหาคม2564 – 1 ธันวาคม 2565 จากแบบบันทึกข้อมูลเวชระเบียนผู้ป่วยนอก การสัมภาษณ์ผู้ป่วย และญาติ และการโทรเยี่ยมติดตามอาการ
ผู้ป่วยเป็นชายไทย อายุ 54 ปี มีประวัติสูบบุหรี่วันละ 4-5 มวนต่อวัน นานกว่า 30 ปี เข้ารับการรักษาครั้งแรกด้วยมีอาการเสียงแหบ 2 เดือน ส่งต่อจากโรงพยาบาลชุมชน ตรวจพบก้อนลักษณะมีแผลเรื้อรังที่กล่องเสียงด้านขวา แพทย์วินิจฉัยมะเร็งกล่องเสียงระยะที่ 2 วางแผนการรักษาด้วยรังสีรักษาและเคมีบำบัด เตรียมผู้ป่วยด้านทันตกรรมถอนฟัน 6 ซี่ และรักษาคอฟัน ผู้ป่วยไม่ต้องการถอนรอการตัดสินใจ เลือกรักษาด้วยสมุนไพร 7 เดือนต่อมาก้อนโตขึ้นที่คอด้านขวา ปวดคอ หายใจไม่สะดวก มาขอเข้ารับการรักษา ทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ซ้ำ ขนาดก้อนใหญ่ขึ้น จึงตัดสินใจรับการรักษาโดยการเจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจ ใส่สายให้อาหารทางสายยาง ฉายรังสีรักษา 35 ครั้ง และให้เคมีบำบัด 6 ครั้ง จนครบ อาการข้างเคียงในการรักษาคือมีแผลในช่องปาก ผิวหนังที่ลำคอมีรอยไหม้แสบร้อน ผมร่วง และน้ำหนักลดจากเดิม 19 กิโลกรัม ระยะเวลาให้รักษาและเคมีบำบัด 6 เดือน ติดตามหลังการรักษา 1 เดือน ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้ หายใจทางท่อเจาะคอ ถอดสายยางให้อาหารสามารถรับประทานอาหารทางปากได้ ขนาดก้อนที่คอยุบลง น้ำหนักเพิ่มขึ้น 2 กิโลกรัม แพทย์นัดตรวจติดตามอาการทุก 6 เดือน รวมระยะเวลาตั้งแต่เริ่มรับการตรวจวินิจฉัยให้การรักษาตามแผนจนครบกำหนดเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน
สรุปผลและการนำไปใช้ จากการศึกษาผู้ป่วยรายนี้ได้รับแผนการรักษาด้วยรังสีรักษาและเคมีบำบัด มีความยุ่งยากซับซ้อนในการรักษาเนื่องจากผู้ป่วยปฏิเสธการรักษาในช่วงแรกทำให้โรคลุกลาม และผลข้างเคียงของการรักษา อาการรบกวนต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยและญาติมีความยากลำบากในการดูแลตัวเอง ในทุกระยะของการรักษา พยาบาลผู้ดูแลมีบทบาทสำคัญในการวางแผนการพยาบาลแบบองค์รวม เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายชะลอการดำเนินของโรค การศึกษานี้จะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงที่แผนกผู้ป่วยนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
คำสำคัญ: การพยาบาล, โรคมะเร็งกล่องเสียง, แผนกผู้ป่วยนอก