ประสิทธิผลของการพัฒนาระบบบริการการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ตำบลลิ้นฟ้า อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ/ อรุณจิตต์ ทองสมบัติ*1 Arunjit Thongsombat
- July 18, 2025
- admin
- 0
ประสิทธิผลของการพัฒนาระบบบริการการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ตำบลลิ้นฟ้า อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ
The Effectiveness of the Development of an Elderly Care Service System for Dependent Individuals in Lin Fa Subdistrict, Yang Chum Noi District, Sisaket Province
Authors
อรุณจิตต์ ทองสมบัติ*1
Arunjit Thongsombat
(Received: 25 June 2025; Revised: 9 July 2025, 2025; Accepted: 12 July 2025)
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods) เรื่อง “ประสิทธิผลของการพัฒนาระบบบริการการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ตำบลลิ้นฟ้า อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ” มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาประสิทธิผลของระบบบริการที่พัฒนาขึ้นต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (2) ประเมินความพึงพอใจของผู้สูงอายุและผู้ดูแลต่อระบบบริการที่พัฒนาขึ้น และ (3) วิเคราะห์บทบาทของชุมชนในการสนับสนุนการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 168 ราย และผู้ดูแลร่วมกับภาคีเครือข่าย จำนวน 19 ราย ดำเนินการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนธันวาคม 2567 ถึงพฤษภาคม 2568 โดยใช้เครื่องมือ ได้แก่ แบบสอบถามมาตรฐานและแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติเชิงพรรณนาและการทดสอบ Wilcoxon Signed-Rank Test และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า (1) ระบบบริการที่ได้รับการพัฒนาขึ้นช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตและความสามารถในการดำรงชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Z = -11.24, p < .05) โดยไม่มีรายใดที่มีคะแนนลดลง อีกทั้ง มีผู้สูงอายุจำนวนถึง 147 รายที่มีคะแนน ADL เพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด (2) ผู้สูงอายุและผู้ดูแลแสดงความพึงพอใจในระดับ “ดีมาก” ต่อระบบการดูแลที่นำมาใช้ โดยเฉพาะด้านการประสานงานของ Care Manager ความต่อเนื่องของการเยี่ยมบ้าน และการให้บริการที่เอื้อต่อบริบทในชุมชน (3) ชุมชนมีบทบาทสำคัญในเชิงโครงสร้างและเชิงกลยุทธ์ โดยการจัดตั้งทีมสหวิชาชีพในระดับพื้นที่ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างง่าย เช่น กลุ่มไลน์ในการสื่อสารติดตาม และการสนับสนุนโดยตรงจากครอบครัวและภาคีท้องถิ่น ทำให้การดูแลเกิดความครอบคลุมและตอบโจทย์บริบทเฉพาะของพื้นที่ สรุปผลการวิจัย ระบบบริการที่ได้รับการพัฒนาในครั้งนี้สามารถขับเคลื่อนการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลในระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิ ลดภาระของผู้ดูแล และเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในมิติต่าง ๆ องค์ความรู้จากงานวิจัยนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นที่มีลักษณะประชากรและบริบทใกล้เคียงกัน เพื่อใช้เป็นกลไกเชิงนโยบายและ แนวทางการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในอนาคตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในสังคมที่เข้าสู่ภาวะสูงวัยอย่างสมบูรณ์
Keywords : ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง, ระบบการดูแลระยะยาว, การมีส่วนร่วมของชุมชน, ระบบสุขภาพปฐมภูมิ