ประสิทธิผลของโปรแกรมพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เขตรับผิดชอบ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านค้อน้อย อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี / ชัยยุทธ ละครวงษ์*1
- April 29, 2025
- admin
- 0
ประสิทธิผลของโปรแกรมพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เขตรับผิดชอบ
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านค้อน้อย อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี
Authors
ชัยยุทธ ละครวงษ์*1
(Received: 27 March 2025; Revised: 20 April 2025, 2025; Accepted: 26 April 2025)
Abstract
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods Research) โดยใช้รูปแบบ Explanatory Sequential Design มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการส่งเสริมความรู้ การรับรู้ความสามารถตนเอง และทักษะการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน รวมถึงประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วย และศึกษาประสบการณ์และมุมมองของ อสม. และผู้ป่วยที่มีต่อการดำเนินงานตามโปรแกรม กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย อสม. จำนวน 84 คน และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 181 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์เชิงลึก การเก็บข้อมูลดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 ถึงเมษายน พ.ศ. 2568 ข้อมูลเชิงปริมาณวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ร้อยละ) สถิติเชิงอนุมาน Paired Sample t-test และ Correlation Analysis ข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์โดยการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงธีม (Thematic Analysis)
ผลการวิจัย พบว่า หลังการเข้าร่วมโปรแกรม อสม. มีคะแนนความรู้เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นอย่าง มีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) ระดับการรับรู้ความสามารถตนเองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) และทักษะการดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) ความพึงพอใจของผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลจาก อสม. อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพพบว่า ผู้ป่วยมีความรู้สึกใกล้ชิดและไว้วางใจ อสม. มากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพในทางที่ดี และ อสม. มีความมั่นใจและความเชี่ยวชาญในการสื่อสารและส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น สรุปได้ว่า โปรแกรมพัฒนาศักยภาพตามแนวคิดทฤษฎีความสามารถแห่งตน (Self-Efficacy Theory) มีประสิทธิผลในการเสริมสร้างความรู้ ทักษะ และความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของ อสม. ส่งผลให้การดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในระดับชุมชนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีข้อเสนอแนะให้สนับสนุนและขยายการดำเนินงานในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพปฐมภูมิให้เข้มแข็งและยั่งยืน
Keywords :โปรแกรมพัฒนาศักยภาพ, อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.), โรคความดันโลหิตสูง, การป้องกันภาวะแทรกซ้อน