การพยาบาลผู้ป่วยโรคแบคทีเรียกินเนื้อติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพหลายขนานในหอผู้ป่วยศัลยกรรม/ อำไพย์ ขอพึ่ง Amphai kopung
- April 2, 2025
- admin
- 0
การพยาบาลผู้ป่วยโรคแบคทีเรียกินเนื้อติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพหลายขนานในหอผู้ป่วยศัลยกรรม
Nursing care of patients with Necrotizing fasciitis resistant to multiple antimicrobial drugs in the surgical ward
Authors
อำไพย์ ขอพึ่ง
Amphai kopung
(Received: 20 February 2025; Revised: 16 March 2025, 2025; Accepted: 20 March 2025)
Abstract
โรคแบคทีเรียกินเนื้อ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรงที่ผิวหนังชั้นลึก พบไม่บ่อยแต่มีความรุนแรง และยิ่งหากมีการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพจะส่งผลให้การรักษายากขึ้น ค่าใช้จ่ายมากขึ้น ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตหรือเกิดภาวะทุพพลภาพ รวมทั้งเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้ป่วยอื่นและหน่วยงานอื่น บทบาทหน้าที่สำคัญของพยาบาลควบคุมป้องกันการติดเชื้อ คือการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของบุคลากรที่ปฏิบัติงาน เพื่อลดอุบัติการณ์ติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ลดค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลานอนโรงพยาบาล
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษากระบวนการพยาบาล และการดูแลผู้ป่วยโรคแบคทีเรียกินเนื้อติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพหลายขนานในหอผู้ป่วยศัลยกรรม
รูปแบบการศึกษา: เป็นการวิเคราะห์กรณีศึกษากับหลักวิชาการ และนำผลการศึกษาไปใช้ในการดูแลผู้ป่วย
ผลการศึกษา : ผู้ป่วยชายไทย อายุ 62 ปี มีประวัติเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ก่อนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เท้าขวาเดินเหยียบหนาม ล้างแผลด้วยตนเอง ต่อมาเท้าข้างเดิมโดนท่อรถไอเสียที่กำลังร้อนทำให้เป็นแผลมากขึ้นและทำแผลเอง มีอาการปวดมากถึงข้อเท้าจนทนไม่ไหวจึงมาโรงพยาบาลชุมชนและถูกส่งตัวมารักษาต่อ แพทย์วินิจฉัย Necrotizing fasciitis right foot ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด Debridement and big toe amputation ร่วมกับให้ยาปฏิชีวนะฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ผลเพาะเชื้อหนองที่แผล พบ Klebsiella pneumoniae (ESBL+), Enterococcus faecalis แผลไม่ดีขึ้น จึงต้องทำการตัดขาส่วนล่าง (Below-knee amputation) หลังจากนั้น แผลแห้งดี หลังนอนโรงพยาบาล 21 วัน จำหน่ายกลับบ้านได้ ทีมพยาบาลเฝ้าระวังการติดเชื้อ ร่วมกับทีมพยาบาลหอผู้ป่วยศัลยกรรมของโรงพยาบาล ร่วมวางแผนการจำหน่ายตามหลัก D-METHOD
สรุป: ผู้ป่วยเป็นโรคแบคทีเรียกินเนื้อประกอบกับระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่วมกับมีการติดเชื้อดื้อยาส่งผลให้ต้องตัดขาส่วนล่าง ซึ่งด้วยโรคของผู้ป่วยประกอบกับการมีโรคร่วม ทำให้ผู้ป่วยใช้เวลาในการรักษาพยาบาลและนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานานอาการจึงดีขึ้นตามลำดับ จนจำหน่ายกลับบ้านได้ การศึกษาครั้งนี้จะช่วยให้การพยาบาลผู้ป่วยโรคแบคที่เรียกินเนื้อติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพหลายขนานในหอผู้ป่วยศัลยกรรมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
Keywords : โรคแบคทีเรียกินเนื้อ, เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพหลายขนาน, การพยาบาล