ประสิทธิผลของการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันการถอดท่อช่วยหายใจ โดยไม่ได้วางแผนในผู้ป่วยวิกฤต / พนาวรรณ บุญพิมล, พย.ม.1* พัชยา อัศวสงคราม, พย.บ.1 อรนุช เยื้อนแย้ม, พย.บ.1 ชนิศา มีสมปลื้ม, พย.บ.1 เลอลักษณ์ ไล้เลิศ, พย.ม.1 สริตา สินสืบผล, พย.บ.1
- September 26, 2024
- admin
- 0
ประสิทธิผลของการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันการถอดท่อช่วยหายใจโดยไม่ได้วางแผนในผู้ป่วยวิกฤต
Authors
พนาวรรณ บุญพิมล, พย.ม.1* พัชยา อัศวสงคราม, พย.บ.1 อรนุช เยื้อนแย้ม, พย.บ.1 ชนิศา มีสมปลื้ม, พย.บ.1 เลอลักษณ์ ไล้เลิศ, พย.ม.1 สริตา สินสืบผล, พย.บ.1
(Received: August 31 , 2024; Revised: September 17, 2024; Accepted: September 22, 2024)
บทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi experimental research design) เพื่อเปรียบเทียบผลการศึกษาของกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง จากพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 12 คน และผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตด้านการหายใจ โดยแบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 40 คน กลุ่มควบคุม คือ กลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 และกลุ่มทดลอง คือ กลุ่มที่ได้รับการดูแลตามแนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันการถอดท่อช่วยหายใจโดยไม่ได้วางแผนในผู้ป่วยวิกฤต ที่พัฒนาขึ้นจากหลักฐานเชิงประจักษ์ ระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 โดยแนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันการถอดท่อช่วยหายใจโดยไม่ได้วางแผนในผู้ป่วยวิกฤต ประกอบด้วย การประเมินความเสี่ยงในการถอดท่อช่วยหายใจโดยไม่ได้วางแผน การให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและครอบครัว การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การดูดเสมหะที่มีประสิทธิภาพ การวัดแรงดันลมในกระเปาะส่วนปลายของท่อช่วยหายใจ และการยึดตรึงท่อช่วยหายใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยาย สถิติ chi-square, สถิติ Wilcoxon Signed Rank test และ สถิติ Mann-Whitney U test
ผลการศึกษาพบว่า ด้านผู้ป่วย กลุ่มทดลองเกิดการถอดท่อช่วยหายโดยไม่ได้วางแผนน้อยกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p <.05 (p =.03) ด้านบุคลากร พยาบาลมีคะแนนความรู้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p <.05 (z =-2.33, p =.02) ความพึงพอใจของพยาบาลต่อการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันการถอดท่อช่วยหายใจโดยไม่ได้วางแผนในผู้ป่วยวิกฤต อยู่ในระดับมากสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 100 และด้านองค์กร จำนวนวันใส่ท่อช่วยหายใจและจำนวนวันหย่าเครื่องช่วยหายใจไม่แตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ p <.05 (z =-.005, p =.99; z =-1.04, p =.29)
คำสำคัญ: แนวปฏิบัติการพยาบาล, การถอดท่อช่วยหายใจโดยไม่ได้วางแผน, ผู้ป่วยวิกฤต