การพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบทั้งหมดในผู้ป่วยโรคข้อสะโพกเสื่อม
- January 10, 2024
- admin
- 0
การพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบทั้งหมดในผู้ป่วยโรคข้อสะโพกเสื่อม
Nursing care for patients undergoing total hip replacement surgery in patients with hip degeneration
Authors
สลักจิต งามสง่า*
Salakchit Ngamsanga
(Received: November 25, 2023; Revised: December 20, 2023; Accepted: January 4, 2024)
บทคัดย่อ
ความสำคัญของปัญหา: ภาวะหัวกระดูกข้อสะโพกตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยง (Avascular Necrosis of Femoral Head :AVN) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยส่วนใหญ่มักเกิด กับผู้สูงอายุ สาเหตุมาจากการได้รับบาดเจ็บจากสะโพกเคลื่อน สะโพกหัก อุบัติเหตุ การบาดเจ็บอื่นที่ทำลายหลอดเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณหัวกระดูก การดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานยาสเตียรอยด์เป็นประจำ หากสามารถให้การวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะแรก การรักษาจะง่ายขึ้นและมีโอกาสจะรักษาหัวสะโพกไว้ได้ แต่ในปัจจุบันผู้ป่วยส่วนใหญ่มักได้รับการวินิจฉัยเมื่อโรคลุกลามไปมากแล้ว ทำให้ต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมในปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิค วิธีการผ่าตัด และวัสดุอุปกณ์ที่ใช้ในการผ่าตัดอย่างต่อเนื่อง มีความหลากหลายให้เลือกเพื่อการรักษาผู้ป่วยตามสถานการณ์และสาเหตุ รวมถึงมีราคาค่าใช้จ่ายสูง การผ่าตัดจึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในทุกขั้นตอนของกระบวนการผ่าตัด ดังนั้นพยาบาลห้องผ่าตัด จึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยทั้งระยะก่อนผ่าตัด ขณะผ่าตัด และหลังผ่าตัด ทั้งในการเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ การจัดท่าผ่าตัด การช่วยส่งเครื่องมือผ่าตัดที่มีความซับซ้อนตามขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัย ปราศจากภาวะแทรกช้อน
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษากระบวนการพยาบาล และการดูแลผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมชนิดทั้งหมด ในผู้ป่วยข้อสะโพกเสื่อม
รูปแบบการศึกษา: เป็นการวิเคราะห์และเปรียบเทียบกรณีศึกษากับหลักวิชาการและนำผลการศึกษาไปใช้
ผลการศึกษา: ผู้สูงอายุ เพศ หญิง เกิดภาวะข้อสะโพกซ้ายเสื่อมจากการขาดเลือดไปเลี้ยงและมีโรคร่วม คือ ความดันโลหิตสูงและไขมันในเส้นเลือดสูง รับประทานยาควบคุมโรคได้ดี ผู้ป่วยอยู่ใน class III แพทย์ให้การรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบทั้งหมดชนิดไม่ใช้ซีเมนต์ ใช้วิธีระงับความรู้สึกทางช่องไขสันหลัง ได้รับการดูแลรักษาตามแผนการรักษาของแพทย์และการพยาบาลอย่างเหมาะสม มีการเตรียมความพร้อมด้านร่างกาย–จิตใจก่อนผ่าตัด การป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ เช่น ลิ่มเลือด-ก้อนไขมันอุดตัน เส้นประสาทถูกทำลาย หรือการแตกของกระดูกขณะผ่าตัด ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เช่น การติดเชื้อแผลผ่าตัด ข้อสะโพกเทียมเลื่อนหลุด มีการฟื้นฟูสภาพด้วยกายภาพบำบัดและจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล
สรุป การศึกษาในครั้งนี้พบว่า พยาบาลห้องผ่าตัด มีบทบาทสำคัญ ต้องมีสมรรถนะในการประเมินและติดตามอาการเปลี่ยนแปลง ให้การพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมชนิดทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมตามมาตรฐานวิชาชีพ ทุกขั้นตอนตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัด รวมถึงการดูแลต่อเนื่องหลังการจำหน่ายเพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นฟูสภาพไม่เกิดความพิการ กลับไปดำเนินชีวิตได้ปกติกับครอบครัวได้อย่างมีความสุข
คำสำคัญ : ข้อสะโพกเสื่อม, ภาวะหัวกระดูกข้อสะโพกตาย, ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบทั้งหมด