การพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขา : กรณีศึกษา
- December 21, 2023
- admin
- 0
การพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขา: กรณีศึกษา
Nursing care of a hip arthroplasty patient with deep vein thrombosis
in the leg: a case study
Authors
ชุติมา บ่ายเที่ยง
Chutima Baiteang
(Received: November 10, 2023; Revised: November 25, 2023; Accepted: December 14, 2023)
กระดูกสะโพกหักเป็นอุบัติการที่เกิดสูงขึ้น สาเหตุบ่อยที่พบเกิดจากการพลัดตกหกล้ม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุน ส่งผลให้เนื้อเยื่อและหลอดเลือดบริเวณนั้นเกิดการบาดเจ็บ มีอาการปวด บวมแดงร้อนและไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ เละมีโอกาสเกิดการขาดเลือดที่หัวกระดูกเกิดการตายของหัวกระดูกซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินทางออร์โธปิดิกส์ ส่งผลให้เกิดความพิการและรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ ในปัจจุบันให้การรักษาด้วยการดึงให้เข้าที่และการทำผ่าตัดจัดข้อเข้าที่ด้วยการเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญพบบ่อย เช่น ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขา และภาวะแทรกซ้อนจากการไม่สามารถเคลื่อนไหวตัวเองได้ โดยบทความนี้เป็นการนำเสนอกรณีศึกษา โดยศึกษาจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยหกล้มคอกระดูกต้นขาข้างซ้ายหัก ได้รับการรักษาผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขา ของโรงพยาบาลสิงห์บุรี 1 ราย ระยะเวลา 17 วัน จากแบบบันทึกข้อมูล เวชระเบียนผู้ป่วยใน การสัมภาษณ์ผู้ป่วยและญาติ และการโทรเยี่ยมติดตามอาการ
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยรายนี้ เป็นหญิงไทย อายุ 84 ปี มีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง รักษาต่อเนื่อง มาโรงพยาบาลด้วย หกล้ม ปวดสะโพกข้างซ้าย 15 ชั่วโมง แรกรับ E4V5M6 ต้นขาข้างซ้ายปวดบวม ขยับเองไม่ได้ ผิดรูป ส่งเอกซเรย์สะโพกข้างซ้ายพบ Left Intertrochanteric Fracture ทำผ่าตัด Open Reduction Internal Fixation With Proximal Femoral Nail Antirotation left femur Intertrochanteric หลังผ่าตัดพบภาวะซีด ให้เลือดชนิดเม็ดเลือดแดงข้น 3 ยูนิต ส่งกายภาพบำบัด หลังจากนั้นมี
อาการขาข้างซ้ายบวมปวดมากขึ้น ส่งทำ อัลตร้าซาว์ Doppler พบ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขา ให้ยา Enoxaparin 5 วัน อาการ ยังไม่ดีขึ้น ประสานส่งต่อโรงพยาบาลรามาธิบดี ทำการใส่เครื่องกรองลิ่มเลือดที่ตำแหน่งหลอดเลือดดำใหญ่ (Inferior Vena Cava filter) และรับกลับมาทำแผลปรับให้ยาละลายลิ่มเลือดชนิดรับประทาน และส่งเวชศาสตร์ฟื้นฟู จากนั้นอาการดีขึ้นตามลำดับ ขาข้างซ้ายยุบบวม เดินใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน แพทย์อนุญาตกลับบ้าน รวมระยะเวลานอนโรงพยาบาล 17 วัน
สรุปผลและการนำไปใช้ จากการศึกษาผู้ป่วยรายนี้ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขา และมีความยุ่งยากซับซ้อนในการรักษาเนื่องจากเป็นผู้สูงอายุและได้รับยาละลายลิ่มเลือด พยาบาลผู้ดูแลจึงมีบทบาทสำคัญในการวางแผนการพยาบาลผู้ป่วยในทุกระยะของการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน โดยมีการวางแผนร่วมกับญาติในการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้านอย่างถูกต้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและการกลับเป็นซ้ำ และนำไปเป็นแนวทางการดูแลผู้ป่วยรายต่อไป
คำสำคัญ: การพยาบาล,การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม,ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขา