การพยาบาลผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันชนิดคลื่นเอสทียก
- December 18, 2023
- ผู้เเต่ง บุญสม ขันพิจิตร
- 0
การพยาบาลผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันชนิดคลื่นเอสทียก
(Nursing Care of Patients With ST-Segment Elevation Myocardial Infarction: STEMI)
Authors
บุญสม ขันพิจิตร
Bunsoom Khunpijit
(Received: October 25, 2023; Revised: November 25, 2023; Accepted: December 15, 2023)
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันชนิดเอสทียกสูง (ST Elevation Myocardial Infarction: STEMI) เป็นภาวะวิกฤติฉุกเฉินทางอายุรกรรมที่พบได้บ่อยและมีอัตราการเสียชีวิตสูง ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่สำคัญ คือ การเกิดภาวะช็อกจากหัวใจและอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้หากเกิดความล่าช้าในการเปิดหลอดเลือดหัวใจผู้ป่วย การรักษาเพื่อเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ Fibrinolysis เป็นการให้ยาสลายลิ่มเลือด โดยให้ยาภายใน 30 นาที door to needle time within 30 minutes นับตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลจนได้รับยาละลายลิ่มเลือด และ Primary PCI เป็นการขยายหลอดเลือดหัวใจผ่านสายสวน ทำภายใน 120 นาที นับตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลจนได้ทำ Primary PCI จะช่วยให้เปิดหลอดเลือดหัวใจได้เร็วและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ระยะเวลาการให้ยาและการขยายหลอดเลือดหัวใจผ่านสายสวน มีความสัมพันธ์กับอัตรารอดชีวิตโดยตรงของผู้ป่วย ดังนั้นพยาบาลที่ดูแลต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการประเมินคัดกรอง การอ่านและแปลผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ให้การดูแลและเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน นับตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล ให้การพยาบาล และการประสานการรักษาให้ผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดอย่างรวดเร็วและสามารถส่งต่อผู้ป่วยเพื่อทำการขยายหลอดเลือดหัวใจได้อย่างปลอดภัย วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษากระบวนการพยาบาลและการดูแลผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันชนิดคลื่นเอสทียก รูปแบบการศึกษา: เป็นการวิเคราะห์และเปรียบเทียบกรณีศึกษากับหลักวิชาการและนำผลการศึกษาไปใช้ ผลการศึกษา: ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 87 ปี มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง โดยเมื่อประมาณ 1.5 เดือน แพทย์ได้ปรับยารักษาโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงให้ใหม่ หลังจากรับประทานยา มีอาการปวดต้นคอ ปวดกราม เหนื่อยง่าย จุกแน่นท้อง รักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้าน ได้ยาแก้ปวดและยาโรคกระเพราะอาหารมารับประทาน อาการไม่ทุเลา 7 วันก่อนมา มีอาการเหนื่อย แสบร้อนกลางหน้าอก จุกในลำคอ ไม่ได้ไปรักษาที่ไหน 1 วันก่อนมา มีอาการเหนื่อย แสบร้อนกลางหน้าอก จุกคอมากขึ้น จึงมารพ. ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจพบว่ามี ST elevate leads II, III, aVF pain score 5/10 แพทย์วินิจฉัยว่าเป็น STEMI ได้ให้การรักษาเบื้องต้นโดยให้ยา ASA gr V 1 เม็ด เคี้ยว และยา Plavix (75) 4 เม็ด กลืนทันที อาการเจ็บแน่นอกทุเลาลง pain score 4/10 ได้ส่งตัวผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลราชธานี สรุป: ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเป็นภาวะฉุกเฉินทางอายุรกรรมที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องรวดเร็ว โดยเฉพาะภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันชนิดชนิดเอสทียกสูง เพื่อลดอัตราการตายของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดให้ได้ผลดีนั้น ต้องเริ่มจากการวินิจฉัยที่รวดเร็วและถูกต้อง ตัดสินใจเลือกการรักษาที่เหมาะสมในเวลาที่สมควร สำหรับบทบาทของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน คือ การจัดระบบการการพยาบาลแบบทดแทนทั้งหมด การประเมินคัดกรองและให้บริการทางด่วน (Fast tract) มีการติดตามอาการ สัญญาณชีพ การเต้นของหัวใจอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังและป้องกันภาวะแทรกซ้อนตลอดจนสามารถส่งต่อผู้ป่วยไปขยายหลอดเลือดหัวใจในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าด้วยความปลอดภัย
คำสำคัญ : การพยาบาล, โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน, คลื่นเอสทียก